การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy)

            การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะเป็นหัตถการ เพื่อตรวจเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะ การส่องกล้องนี้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า cystoscope ซึ่งเป็นท่อยาวที่มีกล้องและไฟอยู่ที่ปลายท่อ เครื่องมือนี้มีทั้งแบบที่ยืดหยุ่น (Flexible cystoscope) และแบบตรง (Rigid cystoscope) ทั้งสองแบบจะมีช่องพิเศษที่สามารถใส่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก เพื่อเข้าไปทำหัตถการภายใน เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะได้
การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเป็นอย่างไร
การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นหัตถการเพื่อตรวจเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ด้วยการสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะได้ โดยการส่องกล้องนี้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ซิสโตสโคป (Cystoscope) ซึ่งเป็นท่อยาวที่มีกล้องและไฟอยู่ที่ปลายท่อ เครื่องมือนี้มีทั้งแบบที่ยืดหยุ่น (Flexible Cystoscope) และแบบตรง (Rigid Cystoscope) ทั้งสองแบบจะมีช่องพิเศษที่สามารถใส่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก เพื่อเข้าไปทำหัตถการภายใน เพื่อวินิจฉัย ติดตามและรักษาโรคหรือความผิดปกติของท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน


ประเภทของกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
กล้องซิสโตสโคป (Cystoscope) สามารถแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่
  • กล้องซิสโตสโคปแบบอ่อนหรือแบบยืดหยุ่น (Flexible Cystoscope) เป็นกล้องส่องขนาดเล็ก ความหนาประมาณแท่งดินสอสอดผ่านทางท่อปัสสาวะ เข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากกล้องส่องแบบนี้มีลำกล้องที่อ่อน จึงผ่านไปตามส่วนโค้งของท่อปัสสาวะได้ง่ายส่วนปลายของกล้องสามารถขยับได้ จึงช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะได้โดยรอบและมองเห็นรูเปิดของท่อไตได้ รวมถึงสังเกตสีน้ำปัสสาวะที่ออกมาจากไตทั้ง 2 ข้าง
  • กล้องซิสโตสโคปแบบแข็งหรือแบบตรง (Rigid Cystoscope) เป็นกล้องส่องที่มีขนาดสั้นกว่าและหนากว่ากล้องแบบอ่อนจึงสามารถสอดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปตามช่องด้านข้างตัวกล้องได้ช่วยให้แพทย์สามารถตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือฉีดยาเข้าไปภายในกระเพาะปัสสาวะได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีการส่องกล้องซิสโตสโคปแบบแข็งภายหลังการส่องกล้องแบบอ่อนแล้ว


ทำไมต้องส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
เมื่อมีข้อบ่งชี้สงสัย หรือมีอาการในความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ แพทย์จะใช้การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเพื่อช่วยในตรวจการวินิจฉัยโรค หรือหาสาเหตุของอาการต่างๆ อาทิ
  • ตรวจหาสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะแสบขัด กระปริดกระปรอย ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และอาการปวดขณะปัสสาวะ รวมถึงหาสาเหตุของการติดเชื้อบ่อยๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • วินิจฉัยโรคและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ตรวจว่ามีรูรั่วของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ (fistula) ตรวจประเมินการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
  • วินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากโตหรือท่อปัสสาวะตีบในผู้ชาย ซึ่งการส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์มองเห็นการตีบแคบของท่อปัสสาวะซึ่งเป็นผลมาจากการเบียดทับของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น หรือการตีบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากพังผืดได้
  • ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงใช้ติดตามรักษาหลังการส่องกล้องผ่าตัดไปแล้ว
  • ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะรักษาเนื้องอกขนาดเล็กในกระเพาะปัสสาวะ โดยการนำชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัย

 

การเตรียมตัวก่อนทำการส่องกล้อง

  • รับประทานยาประจำได้ตามปกติ ยกเว้นยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือด ให้หยุดรับประทานก่อนส่องตรวจ เช่น แอสไพริน และวาฟาร์ริน เป็นต้น โดยจำนวนวันก็หยุดก่อนการส่องกล้องซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • แจ้งแพทย์และพยาบาลให้ทราบ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา หรือเคยได้รับยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านเกร็ดเลือด
  • ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีการส่งตรวจปัสสาวะก่อนเข้ารับการส่องกล้อง เพื่อประเมินการทำงานของไตและวางแผนการรักษา
  • ถ่ายปัสสาวะก่อนเข้าห้องส่องตรวจเพื่อดูจำนวนปัสสาวะเหลือค้าง และให้กระเพาะปัสสาวะว่างสามารถลดความรู้สึกปวดถ่ายปัสสาวะขณะแพทย์ส่องตรวจลงได้
  • แพทย์อาจให้ดมยาสลบหรือให้ยาชาเฉพาะที่ ทาบริเวณท่อปัสสาวะขึ้นอยู่กับชนิดของกล้องที่ใช้ วัตถุประสงค์ของการตรวจ และดุลยพินิจของแพทย์

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
แพทย์จะสอดเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็ก เรียกว่า ซิสโตสโคป (Cystoscope) ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะที่ปลายท่อจะมีกล้องที่ทำหน้าที่ขยายภาพพร้อมไฟส่อง โดยแพทย์จะใช้น้ำเกลือหรือสารละลายปลอดเชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้โป่งออกและสามารถเห็นภาพภายในได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกแสบและปวดเล็กน้อย จะรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องรอจนกว่าการตรวจจะแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที
โดยระหว่างการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะปัสสาวะออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาหรือทำหัตถการอื่นๆ เพิ่มเติมได้


การปฏิบัติตัวภายหลังส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ
หลังจากส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำให้มากเพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ ทั้งนี้การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ เป็นโปรแกรมการตรวจและรักษาที่มีความเสี่ยงต่ำและภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง อาทิ

  • อาการแสบขัด ปวดบริเวณท่อปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีแดงจางๆ และปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
  • อาจมีอาการปวดหน่วงๆ ในช่องท้อง ในช่วง 1-2 วันหลังการส่องกล้อง
  • สำหรับอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และควรมาพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการปวดและแสบขัดมากขึ้น ร่วมกับมีปัสสาวะออกเป็นลิ่มเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก และมีไข้สูง
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้